อื่นๆ
ชีวิตและผลงาน
ชีวิตและผลงาน อาจารย์ธีรนาถ กาญจนอักษร
อาจารย์ธีรนาถ กาญจนอักษร เกิดเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2492 เป็นบุตรของคุณพ่อสุเมธ และคุณแม่บุญช่วย กาญจนอักษร คุณพ่อเป็นคนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอัยการ คุณแม่เป็นคนจังหวัดระยองเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนจันทรประดิษฐรามวิทยาคม
ในวัยเด็ก อาจารย์ธีรนาถสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนสุโรจน์วิทยา และสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนศึกษานารี หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนสำเร็จการศึกษาเศรษฐศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) และหลังจากจบการศึกษาได้เริ่มเป็นอาจารย์ครั้งแรกที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2513 ต่อมาจึงได้ย้ายมาเป็นอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์
อาจารย์ธีรนาถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขา Development Studies จาก Institute of Social Studies (ISS) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2522 โดยเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “Aspects of Industrializations and Labor Problems in an Open Economy: Thailand Case” หลังจากนั้นได้กลับมาสอนหนังสือต่อที่คณะเศรษฐศาสตร์ และได้เข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัย เช่น การปฏิบัติหน้าที่รองประธานสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาค่าย ชมรมศึกษาและวิจัยชาวเขา สโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมจัดกิจกรรมทางวิชาการกับกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง ในระหว่างนี้อาจารย์เริ่มสนใจศึกษาประเด็นด้านสิทธิสตรีและเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมกับองค์กรสตรีหลายแห่ง โดยได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนหญิง ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่รณรงค์เรื่องสิทธิสตรี
ในระหว่างปี พ.ศ. 2528-2532 อาจารย์ธีรนาถได้รับทุนการศึกษาจาก Harvard-Yanking Scholarships และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Cambridge ประเทศอังกฤษ ในขณะที่เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “The Political Economy of Prostitution in Thailand” อาจารย์ได้เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อปฏิบัติภารกิจทางวิชาการต่อที่คณะเศรษฐศาสตร์จนถึงปัจจุบัน
ความสัมพันธ์กับงานด้านสตรีของอาจารย์ธีรนาถ เน้นหนักที่ปัญหาแรงงานหญิงและสิทธิทางการเมืองของผู้หญิงในระบอบประชาธิปไตย อาจารย์ได้มีบทบาทในการผลักดันเรื่องเหล่านี้อย่างมาก โดยได้เข้าไปทำงานในองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การเข้าร่วมในคณะกรรมการชุดต่างๆ ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) สำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทด้านสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการอำนวยการงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท (พชช.) คณะกรรมการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา
ผลงานที่สำคัญประการหนึ่งในการช่วยเหลือคนงานหญิงที่ประสบปัญหาจากการทำงานคือ การที่อาจารย์ธีรนาถได้ผลักดันให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบภัยกรณีโรงงานเคเดอร์ และเข้าร่วมเป็นกรรมการเจรจาสิทธิประโยชน์คนงานจากกรณีโศกนาฏกรรมไฟไหม้คนงานเคเดอร์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2534 และหลังจากนั้น อาจารย์ได้เป็นกำลังสำคัญในการรณรงค์จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ เพื่อให้คนงานในภาคเอกชนได้มีหลักประกันในด้านชีวิตและความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ อาจารย์ยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสภาองค์การลูกจ้าง สภาแรงงานแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษากลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี และที่ปรึกษากลุ่มเพื่อแรงงานหญิงไทยในเอเชีย
ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ อาจารย์ธีรนาถได้พยายามใช้เครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ เผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยอาจารย์ได้เคยเป็นผู้อำนวยการการสร้างละครเพื่อประชาธิปไตยในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เรื่อง “บ้านสองแยก” ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ พ.ศ. 2535 เป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุ “เศรษฐกิจชาวบ้าน” และ “สามย่านรายวัน” ทางสถานีวิทยุจุฬาฯ และผู้ดำเนินรายการ “สะท้อนเงาสังคม” “Bangkok Tonight” และ “พบกันครึ่งทาง” ทางสถานีโทรทัศน์ Thai Sky นอกจากนี้อาจารย์ได้เขียนบทความลงในวารสารทางวิชาการและหนังสือพิมพ์ต่างๆในประเด็นผู้หญิง เศรษฐกิจ และการเมือง อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต อาจารย์ธีรนาถ กาญจนอักษร ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาชนบท ผู้อำนวยการโครงการผู้นำสตรีท้องถิ่น สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการรณรงค์สุขภาพความปลอดภัยของคนงาน ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ที่ปรึกษาสภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน ที่ปรึกษามูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาการศึกษาเพื่อลูกหญิงและชุมชน จังหวัดเชียงราย ที่ปรึกษาชมรมจุฬาทักษิณ และคณะกรรมการผลักดันการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ในสถานประกอบการ